2555/01/31

ไตวาย


ความหมายของไต
       ไตเป็นอวัยวะรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วเหลือง มี 2 ข้างอยู่บริเวณบั้นเอว เป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญมากของร่างกาย มีหน้าที่หลักคือคอยกำจัดของเสียต่างๆ ที่ละลายอยู่ในเลือด โดยการกรองและขับทิ้งในรูปของน้ำปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ ช่วยรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ต่างๆ ของร่างกาย ช่วยควบคุมปริมาณน้ำและความดันโลหิต และยังช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงอีกด้วย

ไตเป็นอวัยวะที่ฝังตัวอยู่ในช่องท้องด้านข้าง ทั้งซ้ายและขวาของกระดูกสันหลัง โดยมีหลอดเลือดขนาดใหญ่ และมีท่อส่งน้ำปัสสาวะที่กรองและขับทิ้งไปเก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะ และรอสะสมให้มีจำนวนหนึ่งในขนาดที่เหมาะสมจึงถูกขับออกจากร่างกาย

       ไตเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนที่ต่อจากไต คือ ท่อไต ซึ่งจะเป็นท่อนำปัสสาวะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ จากนั้นปัสสาวะจะเข้าสู่ท่อปัสสาวะเพื่อขับถ่าย ในเพศชายจะมีต่อมลูกหมากอยู่โดยรอบท่อปัสสาวะด้วย   ไตและอวัยวะต่างๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะจะทำงานร่วมกัน เพื่อให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

       ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายมีขนาดประมาณกำปั้นของผู้เป็นเจ้าของรูปร่างคล้ายถั่วแดงอยู่ด้านหลังทั้ง 2 ข้างของลำตัว ในแนวระดับของกระดูกซี่โครงล่าง (หรือเอง หรือเหนือระดับสะดือ)มีหน้าที่หลักในการขัดกรองของเสีย และน้ำส่วนเกินออกจากเลือด และยังมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมสมดุลของเกลือแร่และกรดด่างในร่างกาย หลั่งฮอร์โมนช่วยควบคุมความดันโลหิต หลั่งฮอร์โมน ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงและสร้างวิตามิน ช่วยควบคุมการเจริญเติบโตหากไตไม่ทำงาน หรือทำงานไม่เพียงพอ เนื่องจากได้รับบาเจ็บหรือมีโรคแทรกจะทำให้ระดับของเสีย และปริมาณน้ำคั่งค้างในร่างกาย หรือในเลือด จะปรากฏอาการเหล่านี้คือ ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะช่วงกลางคืน มีเลือดในปัสสาวะโดยเฉพาะช่วงกลางคืน มีเลือดในปัสสาวะ มีอาการบวมที่มือและเท้า ปวดหลังในระดับชายโครงความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่เกิดภาวะไตวายระยะสุดท้าย มีสาเหตุที่สำคัญมาจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ต้องรักษาโดการล้างไต หรือผ่าตัดเปลี่ยนไต หากรักษาโรคทั้งสองนี้ได้ก็จะทำให้โรคไตที่เกิดขึ้นทุเลาหรือชะลอการเปลี่ยนแปลงได้

หน้าที่ของไต

       ไตมีวิธีทำงานนับตั้งแต่แรกที่ไตได้รับเลือดในปริมาณมากจากหลอดเลือดแดงใหญ่แล้ว ซึ่งทุกครั้งที่หัวใจเต้น เลือดประมาณ20%จะถูกสูบฉีกจากหัวใจเข้าสู่ไตทั้งสองข้าง กระบวนการทำงานของไตได้แก่


     1.การกรอง ของเหลวบางประเภทที่อยู่ในเลือดจะถูกออกแยกจากเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวรวมทั้งโปรตีนซึ่งอยู่ในเลือด ในขณะที่เข้าไปในส่วนไตที่ใช้กรองซึ่งมีชื่อว่า โกลเมอรูลัส (Glomerulus) จากนั้นของเหลวซึ่งถูกกรองแล้วจะถูกรวมไว้ในส่วนของไตที่มีลักษณะคล้ายท่อยาว ซึ่งส่วนนี้และโกลเมอรูลัสทั้งหลายของไตคือหน่วยที่ทำหน้าที่ผลิตปัสสาวะซึ่งเราเรียกว่า เนฟฟรอนส์ (Nephrons)

     2.ขั้นตอนสอง การลำเลียงของเหลวที่ผ่านการกรองแล้วกลับสู่ร่างกาย หลังจากที่เนฟฟรอนส์ได้กรองของเหลวออกจากเลือดแล้ว เยื่อหุ้มผนังของส่วนที่มีลักษณะคล้ายท่อเนฟฟรอนส์ก็จะถ่ายคืนของเหลวเหล่านั้นในอัตรา99%กลับเข้าในกระแสเลือด ส่วนที่เหลือนั้นคือของเสียซึ่งอยู่ในรูปของปัสสาวะที่ร่างกายจะต้องกำจัดออกไป

     3.ขั้นสุดท้าย การเพิ่มของเสียบางอย่างซึ่งมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะกรองได้ลงในปัสสาวะ โดยที่เยื่อบุผนังของเนฟฟรอนส์ จะทำการเปลี่ยนของเสียเหล่านี้จากเลือดให้เป็นปัสสาวะโดยตรง กระบวนการดังกล่าวนี้มีชื่อว่า การคัดหลั่ง (Secretion)

       นอกจากไตจะมีหน้าที่กำจัดของเสียออกจากร่างกายแล้ว หน้าที่สำคัญอื่นๆ ของไตก็คือ ช่วยรักษาระดับของแร่ธาตุที่อยู่ในเลือดให้คงที่อยู่เสมอ ซึ่งสิ่งนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานตามปกติของเนื้อเยื่อทั้งหมดในร่างกายและยังมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนมากมายหลายชนิดอีกด้วย ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะคอยทำหน้าที่ปรับความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ช่วยกระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดแดงในไขกระดูก และช่วยควบคุมระดับแคลเซียมในกระดูกให้คงที่อยู่เสมอด้วย

ความหมายของภาวะไตวาย
       ภาวะไตวาย คือการทำงานของไตลดลงจนเกิดมีการคั่งของของเสียประเภทยูเรียไนโตรเจนและของเสียอื่นๆผู้ป่วยที่มีอาการไตวายไม่มากนัก จะไม่มีอาการให้เห็นชัดเจนแต่จะทราบว่ามีอาการไตวายได้โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูการทำงานของไตซึ่งแพทย์จะดูที่ระดับยูเรียไนโตรเจน (Blood Urea Nitrogen หรือ BUN) และระดับครีตินิน (Serum Creatinineหรือ Cr) โดยปกติค่า BUN ของคนปกติมีค่าประมาณ 12-20 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg%) ส่วนค่า Cr มีค่าประมาณ 0.6-1.2 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งถ้าค่าทั้งสองตัวนี้สูงกว่านี้โดยไม่ได้เกิดจากยาหรือภาวะบางอย่างจะถือว่าเป็นภาวะไตวายเกิดขึ้น ไตวายอาจจะเป็นแบบที่มีปัสสาวะมากคือมากกว่า 400 มิลลิลิตรต่อวัน หรือแบบมีปัสสาวะน้อยคือน้อยกว่า 400 มิลลิลิตรต่อวัน ก็ได้ถ้าผู้ป่วยมีปัสสาวะน้อยผู้ป่วยมักจะมีอาการบวมที่ส่วนหน้าและขามีอาการเหนื่อยหอบเนื่องจากมีของเสียคั่งจนหัวใจวายแต่ถ้าเป็นไตวายแบบมีปัสสาวะมากผู้ป่วยจะอาจจะไม่มีอาการเหนื่อยหรืออาการผิดปกติจนกระทั่งค่า BUN ในเลือดมีถึงประมาณ 80-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เมื่อไตวายเป็นมากขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการที่เราเรียกว่ากลุ่มอาการยูรีเมียซึ่งเกิดจากการที่มีของเสียสะสมในร่างกายทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น สะอึก คลื่นไส้อาเจียน ผิวซีด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผิวแห้ง มีอาการคันที่ผิวหนังบวมที่ส่วนหน้าและขา ปัสสาวะบ่อยครั้งในกลางคืนอาจมีอาการเจ็บหน้าอกหรือหัวใจวาย จากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหากมีอาการดังกล่าวแล้วไม่รีบรักษาผู้ป่วยอาจจะชักหมดสติและอาจเสียชีวิตได้

       ไตวายเฉียบพลันโดยช่วงเวลาที่เกิดขึ้นจะเป็นชั่วโมง หรือ เป็นวันทำให้เกิดการคั่งของของเสียทำให้เกลือแร่ กรด ด่าง และ การควบคุม ปริมาณน้ำในร่างกายผิดปกติถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีปริมาณปัสสาวะต่อวันน้อยกว่า 400 ซีซี สาเหตุของไตวายเฉียบพลัน มีหลายสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติ ของการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย เช่นผู้ป่วยที่ช็อคจากการติดเชื้อ, เสียเลือดจำนวนมาก หรือขาดน้ำอย่างรุนแรงจากท้องเสียการใช้คำว่า "เฉียบพลัน" นอกจากบ่งถึง ช่วงเวลาระยะสั้นที่เกิดขึ้นแล้วยังบ่งถึงความเป็นไปได้ ที่ไตจะกลับสู่ภาวะปกติได้

       ไตวายเรื้อรังการวินิจฉัยภาวะนี้อาจได้จากการตรวจพบหรือมีประวัติไตวายฉับพลันมานานเกิน 3 เดือน หรือมีการตรวจพบว่าขนาดของไตเล็กลงกว่าปกติผู้ป่วยอาจจะมีกลุ่มอาการที่เกิดจากของเสียคั่งที่เรียกว่ายูรีเมียคือมีอาการ ซีด เพลีย เบื่ออาหาร ผิวแห้ง คลื่นไส้ อาเจียนและสะอึกสำหรับอาการบวมน้ำหอบเหนื่อย อาจจะมีหรือไม่ก็ได้ถ้ามีอาการเหล่านี้มาก หรือมีภาวะที่อันตรายอื่นๆ ของยูรีเมีย เช่น ซึม ชักมีเลือดออกแล้วหยุดยาก เยื่อบุหัวใจอักเสบหรือมีค่าของเสียคั่งค้างมากซึ่งบ่งบอกว่าการทำงานของไตเหลือไม่ถึง 5-10% จะเป็นภาวะที่เรียกว่าไตวายระยะสุดท้าย ( End state renal disease : ESRD )จะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำการรักษาด้วย   วิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้คือ
1. การล้างไตทางหน้าท้อง Peritoneal dialysis
2. การล้างไตทางเลือด Hemodialysis
3. การปลูกถ่ายไต ( Renal transplantation )   เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้


       ไตวายเรื้อรังคือการสูญเสียการทำงานของไต ที่เป็นไปอย่างช้าๆ และถาวร ช่วงเวลาอาจตั้งแต่ 1-2 ปีจนถึง 10 ปีขึ้นไป จนในที่สุดเข้าสู่ภาวะสุดท้ายของไตวาย (END STAGE OF RENAL FAILURE) ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ต้องการการรักษา แบบทดแทน (เช่น ฟอกเลือด, เปลี่ยนไต) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

สาเหตุของการเกิดโรคไตวาย
     1.มีภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงที่ไตเช่นผู้ป่วยมีอุบัติเหตุ เสียเลือด ช็อก หรือมีภาวะหัวใจวายร่างกายจะมีกลไกลดเลือดไปเลี้ยงที่ไต ทำให้ไตวายได้
     2.ได้ยาหรือสารพิษต่อไตยาที่พบบ่อยได้แก่ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ข้ออักเสบ โดยทั่วไปการทานยาเป็นเวลานานอาจมีผลต่อไตได้เพราะยาเกือบทั้งหมดจะมีถูกทำลายความเป็นพิษที่ตับและขับสารพิษออกทางไต
     3.ภาวะความดันโลหิตสูงและเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
     4.ภาวะไตอักเสบอาจจากการติดเชื้อ
     5.ไตอักเสบประเภทมีภูมิต้านทานต่อโกรเมอรูลัสหรือท่อไตซึ่งอาจเกิดเองหรือเกิดตามหลังการติดเชื้อในที่อื่นของร่างกายก็ได้
     6.โรคนิ่ว เกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ บางคนเข้าใจว่าผู้ที่เป็นนิ่วนั้นมักจะไปดื่มน้ำขุ่นแบบในชนบท แต่ได้มีการวิจัยแล้วพบว่า เกิดจากอาหารที่คนเรากินเข้าไปมากกว่า โดยเฉพาะพืชผักที่มีเกลือแร่ที่มีฟอสเฟตกับออกซาเลตไม่ได้สัดส่วนกัน หรือกินเครื่องในสัตว์มากเกินไป ทำให้มีกรดยูริกในเลือดสูงมาก
     7.เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ความพิการของไตแต่กำเนิดนั้นมีได้ต่างๆ นานา บางคนก็มีไตเพียงข้างเดียว บางคนมีไตห้อย ไตหย่อนยาน บางคนแทนที่ในไตจะเป็นเนื้อไต กลับเป็นซีสท์เป็นถุงน้ำอยู่มากมาย เบียดบังเอาเนื้อดีๆไป บางคนก็มีไตเล็กผิดปกติ ไตฝ่อมาแต่กำเนิด
     8.เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้นว่า รถยนต์ชนกัน รถยนต์คว่ำ ถูกกระแทกอย่างแรงที่ช่วงเอวบริเวณไต ถูกยิง ถูกแทง เกิดอุบัติเหตุแล้วไตถูกกระทบกระแทกอย่างรุนแรง ไตก็เสีย ไม่ทำงานตามปกติ เกิดโรคไตขึ้นมา
     9.สาเหตุอื่นๆ เช่น ไตอักเสบจากเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตอักเสบจากโรคลูปัส หรือ เกิดการขาดน้ำอย่างเฉียบพลัน จากท้องร่วงอย่างรุนแรง   โรคลูปัส คือเป็นไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร ผอมลง เกิดรอยผื่นขึ้นบนใบหน้า

อาการและสัญญาณบอกเหตุ ของผู้ป่วยโรคไตวาย
       เมื่อไตเริ่มวายผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการ แต่เมื่อไตเริ่มเสื่อมมากขึ้นผู้ป่วยจะปัสสาวะน้อยลง เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ความจำไม่ดี นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ การตรวจร่างกายอาจพบภาวะซีดหรือโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง เมื่อใช้เครื่องฟังปอดมีสียงกรอบแกรบ (Crepitation) ชีพจรเต้นอย่างไม่สม่ำเสมอ บางคนอาจมีอาการบวมตามร่างกาย หอบเหนื่อย สะอึก เป็นตะคริว นอกจากนี้ยังมีอาการตามระบบต่างๆ ดังนี้ 


ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ [Neuromuscular] จะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อ ปลายเท้าปลายมือชาเนื่องจากปลายประสาทอักเสบ [Peripheral neuropathy] เป็นตะคริว ชัก หมดสติ และเสียชีวิต

ระบบทางเดินอาหาร [Gastrointestinal] เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปากอักเสบ เป็นอาการที่พบที่พบทุกราย ถ้าไตวายมากขึ้นบางรายมีเลือดออกในส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหาร หรืออาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด
ระบบหัวใจและหลอดเลือด [Cardiovascular ] ถ้าไตวายมากมีการคั่งของเกลือและน้ำจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง มีอาการบวมเนื่องจากหัวใจวาย บางรายมีอาการมีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ [Pericarditis] 
ผิวหนังแห้งมีสีคล้ำและอาการคัน อาจมีเลือดออกตามผิวหนังเห็นเป็นจุดแดงพรายย่ำ

การรักษาภาวะไตวายเฉียบพลัน

     1.การรักษาสาเหตุของไตวายเฉียบพลัน ที่สำคัญคือหาสาเหตุให้พบและหยุดสาเหตุนั้นเท่าที่ทำได้ เช่นแก้ไขภาวะช็อค หรือหยุดให้ยาที่ทำให้ไตวายหรือให้ยาแก้ไขการอักเสบ และอาจลองให้สารน้ำรักษาภาวะPrerenal

      2. การใช้ยาแก้ไขไตวายเฉียบพลันได้มีความพยายามที่จะนำยาชนิดต่างๆมาใช้รักษาไตวายเฉียบพลัน เพื่อให้การทำงานของไตดีขึ้นหรืออย่างน้อยช่วยเพิ่มปริมาณของปัสสาวะยาที่นำมาทดลองใช้ในสภาวะไตวายเฉียบพลันมีหลายประเภทแต่ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในกลุ่มของสารกระตุ้นหลอดเลือด (    Vasoactive agent  และยาขับปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้จะมียาหรือสารเป็นจำนวนมากที่เป็นที่ยอมรับว่าให้ผลดีกับ ภาวะไตวายเฉียบพลันในสัตว์ทดลองแต่ก็ได้ผลเมื่อใช้ในการป้องกันเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงยาบางอย่างเท่านั้นที่ให้ผลในการรักษาเมื่อเกิดไตวายเฉียบพลันขึ้นแล้ว แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าถึงแม้ยาต่างๆจะได้ผลดีในสัตว์ทดลอง แต่เมื่อนำมาใช้ในผู้ป่วยแล้ว ผลการรักษายังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร  ดังนั้นการใช้ยารักษาสภาวะไตวายเฉียบพลันจึงยังไม่มีการรักษาวิธีใดที่ได้ผลแน่นอน

     3. การรักษาแบบประคับประคองและรักษาโรคแทรกซ้อนหากไตไม่ฟื้นตัวหลังให้การรักษาตามสาเหตุและแก้ไขภาวะ prerenalรวมทั้งหากลองใช้ยาตามข้อ 2 แล้ว การรักษาต่อไปก็คือการรักษาแบบประคับประคองเพื่อป้องกันและรักษาโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รอไตฟื้นตัวเพื่อลดความจำเป็นในการทำ dialysis ลง

     4.การล้างไต (Dialysis) ในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันปัจจุบันการทำ dialysis ถือเป็นการรักษาแบบมาตรฐานสำหรับผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันที่รักษาโดยวิธีประคับประคองแล้วไม่ได้ผลวิธีการรักษานี้ถือเป็นการรักษาที่ช่วยไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต  ดังนั้นผู้ป่วยซึ่งมีข้อบ่งชี้การทำDialysis  ควรได้รับการรักษาโดยวิธีดังกล่าวทุกราย  ยกเว้นในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันที่พบร่วมกับโรคมะเร็งหรือโรคเรื้อรังระยะสุดท้ายและผู้ป่วยซึ่งมีข้อห้ามในการฟอกเลือด

การรักษาภาวะไตวายเรื้อรัง
     1.การล้างไตชนิด Peritoneal Dialysis คือ การล้างไตโดยวิธีการเจาะผนังหน้าท้อง วิธีการขจัดของเสียทางช่องท้องที่นำมาใช้เมื่อไตเสียถาวรแล้วต้องทำอย่างไรต่อเนื่องตลอดไปวิธีนี้อาศัยเยื่อบุช่องท้องช่วยกรองของเสียออกจากร่างกายโดยการใส่น้ำยาเข้าในช่องท้องทางสายพลาสติกที่แพทย์ได้ทำผ่าตัดฝังไว้ในช่องท้องทิ้งน้ำยาไว้ในช่องท้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง แล้วปล่อยน้ำยาออกจากช่องท้องแล้วทิ้งไปของเสียในเลือดที่ซึมออกมาอยู่ในน้ำยาจะถูกกำจัดจากร่างกายโดยทั่วไปจะทำการเปลี่ยนน้ำยาวันละ 4 ครั้งและสามารถปรับเปลี่ยนการเปลี่ยนถุงน้ำยาให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยได้

     1.1การล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่องชนิด ซีเอพีดี (continuous ambulatory peritoneal dialysis, CAPD)เป็นการล้างไตทางช่องท้องที่นิยมมากที่สุด โดยผู้ป่วยหรือญาติเป็นผู้ทำการปล่อยน้ำยาล้างไตเข้าแช่ในช่องท้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง แล้วจึงปล่อยน้ำยาออก ทำซ้ำๆ อย่างน้อย 4 ครั้งต่อวัน และน้ำยาถุงสุดท้ายก่อนนอนมักแช่ไว้ตลอดคืน จึงไม่รบกวนต่อการนอนหลับของผู้ป่วย
     1.2การล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่องชนิด ซีซีพีดี (continuous cycle-assisted peritoneal dialysis, CCPD)เป็นการล้างไตทางช่องท้อง โดยใช้เครื่องอัตโนมัติในการปล่อยน้ำยาเข้าออกช่องท้องขณะผู้ป่วยนอนหลับทำประมาณ 3-5 ครั้งต่อคืน และจะทำในช่วงเวลากลางวันอีก1ครั้ง คือจะแช่น้ำยาล้างไตไว้ตลอดกลางวัน หรืออาจจะทำเพิ่มเป็น 2 ครั้งต่อช่วงเวลากลางวัน ถ้าต้องการเพิ่มการขจัดของเสีย และลดภาวะน้ำเกินจากร่างกาย
     1.3การล้างไตทางช่องท้องแบบผสม ซีเอพีดี กับ ซีซีพีดี (CAPD และ CCPD) คือการล้างไตทางช่องท้องทั้งช่วงกลางวันและกลางคืนมักทำในกรณีผู้ป่วยน้ำหนักตัวมากหรือผู้ป่วยที่มีผนังหน้าท้องที่มีประสิทธิภาพการกรองของเสียต่ำ
การล้างไตทางช่องท้อง
การเปลี่ยนถ่ายน้ำยาด้วยตนเอง

การดูแลหลังสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายที่ล้างไตผ่านทางหน้าท้อง

     1) คำนึงถึงน้ำหนักที่จะยกว่าหนักไปหรือไม่ 
     2) ให้ยกของใกล้ตัวมากที่สุด 
     3) เวลาจะยกของให้กางขาออกเก้าเท้าไปข้างหน้าหนึ่งเท้า 
     4) ให้ย่อเข่าแทนการก้ม 
     5) อย่ายกของจากที่ชั้นที่สูง 
     6) อย่ายกของและบิดเอว


2. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม Hemodialysis
       มีหลักการคือให้ของเสียจากเลือดซึมผ่านตัวกรองมายังน้ำยาซึ่งเรียกว่า ไดอะไลซิส การล้างไตวิธีนี้ จะต้องมีเครื่องล้างไตซึ่งจะมีตัวกรองแยกต่างหาก ตัวกรองมีลักษณะเป็นท่อนกลมคล้ายกระบอกไม้ไผ่ยาวประมาณ 15-20 ซ.ม. ในตัวกรองที่เล็กแค่นี้ประกอบไปด้วยหลอดเล็กนักหมื่นหลอดอยู่ข้างในหลอดนี้จะเป็นทางเดินของเลือดผู้ป่วย หลอดทั้งหมดจะจุ่มในน้ำยาไดอะไลซิส ซึ่งวิ่งผ่านหลอด เหล่านี้ตลอดเวลา

     2.1 ข้อปฏิบัติก่อนการฟอกเลือด
       ควรงดรับประทานยาลดความดันโลหิตก่อนฟอก 4-6 ชั่วโมง ถ้ามีการเสียเลือดมาก เช่นมีประจำเดือน อุจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด ให้แจ้งแพทย์ก่อนฟอกเลือดทุกครั้งผู้ป่วยทุกท่านควรแต่งกายให้เรียบร้อย และรักษาความสะอาดของร่างกาย ตัดเล็บมือ และเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ
     2.2 การปฏิบัติตนขณะฟอกเลือด
       แขนข้างที่กำลังฟอกให้อยู่นิ่งๆ เตรียมอาหารมารับประทานขณะฟอกเลือด ถ้ามีอาการเวียนศีรษะ ใจสั่น ขณะฟอกให้แจ้งพยาบาลผู้ดูแลทันที
     2.3 ข้อควรปฏิบัติหลังฟอกเลือด 
- หลังการฟอกเลือดใหม่จะมีการห้ามเลือด โดยใช้พลาสเตอร์หรือผ้ากอซปิด เมื่อเลือดหยุดจึงเอาผ้าก๊อซออกและติดพลาสเตอร์ 
- รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ 
- รับประทานอาหารตามคำแนะนำดังกล่าวมาแล้ว 
- ชั่งน้ำหนักทุกวัน โดยควบคุมมิให้น้ำหนักเพิ่มเกินวันละ 0.5 กก.
- หลังการฟอกเลือดให้ระวังการถูกกระแทกแรงๆ เพราะจะทำให้เกิดช้ำได้ 

(การรับประทานอาหาร) 
- ให้รับประทานโปรตีนจากเนื้อปลา แทนจากถั่วและผัก 
- เลือกอาหารที่มีโพแทสเซียมไม่สูงไม่ต่ำเนื่องจากสูงหรือต่ำไปจะทำให้เกิดผลเสียต่อหัวใจ 
- จำกัดน้ำดื่มมิให้น้ำหนักเพิ่มเกินวันละ 0.5 กิโลกรัม
- งดอาหารเค็ม 
- งดอาหารที่มี phosphate สูง

     2.4 รูปประกอบการฟอกไต
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไต Hemodialysis

3.การปลูกถ่ายไต (Renal transplantation)
       ในภาวะปรกติ ร่างกายของมนุษย์จะมีกลไกสร้างภูมิต้านทานสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่รุกล้ำเข้ามาในร่างกาย ฉะนั้นการนำอวัยวะของคนหนึ่งมาให้อีกคนหนึ่งจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะเนื้อเยื่อแตกต่างกัน ร่างกายของผู้รับจะพยายามขจัดอวัยวะที่ไม่ใช่ของตนออกไป  แต่ในปัจจุบันมีวิวัฒนาการทางวิชาการด้านการแพทย์สามารถนำอวัยวะของผู้ที่มีเนื้อเยื่อใกล้เคียงกันมาให้กันได้ โดยใช้ยากดภูมิต้านทาน ทำให้การเปลี่ยนอวัยวะเป็นการรักษาที่เป็นไปได้และเป็นที่นิยมทั่วโลก โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไต
       การปลูกถ่ายไตหรือ การเปลี่ยนไต คือการนำไตของผู้อื่นที่เข้าได้กับผู้ป่วยมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยมิใช่การเปลี่ยนเอาไตผู้ป่วยออกแล้วเอาไตผู้อื่นใส่เข้าไปแทนที่การผ่าตัดทำโดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วยแล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วยและต่อท่อไตใหม่เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วยและต่อท่อไตใหม่เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย การปลูกถ่ายไตนี้ใช้ไตเพียงข้างเดียวก็พอถ้าร่างกายของผู้ป่วยรับไตใหม่ได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆไตที่ได้รับใหม่จะทำงานได้ดี แต่ผู้ป่วยต้องได้รับยากดภูมิต้านทานตลอดชีวิตและจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดไป หากขาดยากดภูมิต้านทานร่างกายจะต่อต้านไตที่ได้รับใหม่ทำให้ไตเสียและยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
       ปัจจุบันการปลูกถ่ายไตถือเป็นการรักษาภาวะไตวายขั้นสุดท้ายที่ดีที่สุดแต่การรักษาวิธีนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่และมีมากกว่าวิธีอื่นที่กล่าวมาแล้วแต่ถ้าผลที่ได้ดีผู้ป่วยจะมีชีวิตใกล้เคียงคนปกติมากกว่าวิธีอื่น ผลการรักษาจะดีถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีโรคของระบบอื่นนอกเหนือจากโรคไต ไม่มีภาวะติดเชื้อ และอายุไม่มาก เป็นต้นในการปลูกถ่ายไตแพทย์จึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบว่าผู้ป่วยเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้ผู้ป่วยด้วย มิฉะนั้นผลจะไม่ดีและในบางครั้งอาจเสียชีวิตได้ สำหรับในผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษทั้งในระยะก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไตทุกระยะ จากประสบการณ์ในการรักษาที่ผ่านมาของผู้เขียนพบว่าผู้ป่วยที่มีกำลังใจดีและรักษาใจของตนเองได้ดี ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดผลการรักษามักจะดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้โรคที่เป็นจะรุนแรงหรือแม้จะทุพพลภาพการรักษาใจร่วมกับการรักษาวิธีอื่น ๆ ดังกล่าวมาแล้ว จึงมีความสำคัญมากและเป็นสิ่งที่ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และญาติควรให้ความสำคัญและช่วยกันทำเพื่อผู้ป่วยจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขแม้จะเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่

คุณสมบัติของผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับการปลูกถ่ายไต (ผู้รับไต
     1.อายุ ผู้ป่วยไม่ควรมีอายุมากเกิน55 ปี เพราะผู้ที่อายุมากหลอดเลือดมักแข็ง ทำให้การผ่าตัดไม่ได้ผลดี
     2.ไม่มีโรคของอวัยวะที่สำคัญอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ และโรคมะเร็ง เป็นต้น เพราะผู้เป็นโรคอื่นร่วมด้วยจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดและการใช้ยาสลบได้
     3.ไม่มีโรคติดเชื้อ เพราะหลังผ่าตัดจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิต้านทาน
     4.เป็นผู้ที่มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง มีความสนใจที่จะรักษาสุขภาพให้ดี และสามารถปฏิบัติจามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะการรับประทานยาอย่างเคร่งครัด

คุณสมบัติของผู้ให้ไต
มี 2 ประเภท คือ
     1.ผู้เสียชีวิต
     2.ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่

ผู้เสียชีวิตที่ให้ไต
       ควรมีอายุไม่เกิน 55 ปี ต้องไม่มีโรคติดเชื้อ ไม่เป็นโรคไตและระบบทางเดินปัสสาวะ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง   เมื่อผู้ให้ไตถึงแก่กรรม จะวินิจฉัยการตายของผู้ป่วยโดยใช้เกณฑ์สมองตายของแพทยสภาและแจ้งให้คณะแพทย์ที่ทำการปลูกถ่ายไต ทราบเพื่อเตรียมนำไตออกจากผู้ให้ และเตรียมผู้รับให้พร้อม แพทย์อาจปลูกถ่ายไตให้ผู้รับทันทีที่นำออกจากร่ายกายของผู้ให้ หรือเก็บไตในน้ำยาพิเศษที่อุณหภูมิต่ำ เพื่อรอให้ผู้รับพร้อมก่อน แต่ไม่ควรเก็บไตไว้นานเกิน 24ชม.

ผู้มีชีวิตที่ให้ไต
       ผู้ที่มีชีวิตที่ต้องการบริจาคไต ต้องเป็นผู้ที่อายุไม่มากเช่นกัน ต้องไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีโรคไตที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ก่อนบริจาคไตต้องได้รับการตรวจร่างกายและจิตใจอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเมื่อให้ไตแล้ว ควรต้องได้รับการตรวจสุขภาพเป็นระยะๆ ตลอดชีวิต ผู้ที่ให้ไตควรมีเนื้อเยื่อเหมือนกับผู้รับมากที่สุด ซึ่งผู้ที่จะมีเนื้อเยื่อใกล้เคียงกันมากที่สุดคือ พี่ น้อง รองมาคือพ่อแม่ ส่วนญาติห่างๆ นั้น เนื้อเยื่ออาจต่างกันมาก ในปัจจุบันยากดภูมิต้านทานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ผู้ที่ไม่ใช่ญาติกันก็สามารถให้ไตแก่กันได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความผูกพันกันทางใจอย่างลึกซึ้ง เช่น สามี ภรรยา และต้องมีการตรวจเนื้อเยื่อเช่นกัน ผู้ให้และผู้รับควรมีเนื้อเยื่อที่เข้ากันได้ การบริจาคไตนี้ควรเป็นการบริจาคโดยบริสุทธิ์ใจและไม่หวังผลตอบแทน และไม่มีธุรกิจแอบแฝงอยู่

การรักษาหลังการปลูกถ่ายไต
     1. มารับการตรวจรักษาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัด
     2. ตรวจเลือดและปัสสาวะทุก 2-4 สัปดาห์
เพื่อติดตามการทำงานของไต ระดับยา ภาวะแทรกซ้อน และพิษจากยา

     3. รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยากดภูมิต้านทานและยาสำหรับโรคอื่นๆ ที่อาจมีร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เพราะมิฉะนั้นไตใหม่จะถูกทำลายได้
     4. ถ้ามีอาการผิดปกติหรือมีไข้ต้องรีบรายงานแพทย์ผู้รักษา และ ควรเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

การให้ยากดภูมิต้านทาน
       ผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิต้านทานทั้งก่อนและหลังผ่าตัด ยาที่ใช้คือ เพรดนิโซโลน และ ไซโคลสปอริน เอ. ในบางกรณีอาจให้เอซาไธโอพรีนด้วย ถ้าร่างกายไม่ยอมรับไตใหม่อาจต้องให้ยากดภูมิต้านทานชนิดอื่น ซึ่งมีราคาสูงร่วมด้วย  ถ้าร่างกายรับไตได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยอาจออกจากโรงพยาบาลได้หลังผ่าตัด 7วัน แต่ถ้าร่างกายไม่รับไตหรือไตใหม่ไม่ทำงาน ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานานเพื่อรับการรักษาด้วยการฟอกเลือด การตรวจต่างๆ รวมทั้งการตรวจเนื้อไต และอาจต้องเพิ่มขนาดหรือชนิดของยากดภูมิต้านทาน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการปลูกถ่ายไตสูงขึ้นอาจถึงหนึ่งแสนบาทหรือมากกว่า

ภาวะแทรกซ้อน
     1.ร่างกายไม่รับไตใหม่
     2.โรคของไตเดิมอาจเกิดที่ไตใหม่ได้
     3.มีพิษข้างเคียงจากยากดภูมิคุ้มกัน เช่น พิษต่อไต ตับ ระบบประสาท ตา เป็นต้น
     4.โรคติดเชื้อ ผู้ป่วยได้รับยากดภูมิต้านทาน จึงทำให้เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย ฉะนั้นถ้ามีการระบาดของโรคติดเชื้อที่ติดต่อกันได้ง่าย ถ้าอยู่ในที่แออัดและอากาศไม่ถ่ายเท ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตก็ไม่ควรอยู่ในสถานที่เหล่านั้น

ยาที่มีอันตรายต่อไต
     1.ยาเอ็นเสด (Non-Steroidal anti-inflammatory Drugs: NSAID) เป็นกลุ่มยาที่ใช้บำบัดอาการปวดข้อกระดูก ซึ่งมีฤทธิ์บรรเทาปวดไข้ชะงักกว่ายาแก้ปวดพาราเซตามอล หรือยาที่มีใช้แพร่หลายในท้องตลาด เช่น แอสไพริน อินโดสิดพอนสแตน   ยากลุ่มนี้มีสรรพคุณต่อการแก้ปวดและต้านการอักเสบโดยไปยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนติน ซึ่งสารนี้มีประโยชน์ช่วยควบคุมการไหลเวียนของเลือดในไตทั้ง 2 ข้าง ให้เป็นไปอย่างปกติ
     2.ยาพาราเซตามอล มีพิษต่อไต ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้อีกด้วย เนื่องจากมีรายงานทางการแพทย์ที่ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่กินยานี้ประจำบ่อยๆ จะมีอัตราการเสื่อมของไตเร็วกว่าปกติ

วิธีช่วยชะลอการเสื่อมของไต
     1. กินอาหารโปรตีนต่ำตามคำแนะนำของแพทย์
     2. ควรรับประทานอาหารที่ให้พลังงานเพียงพอ
     3. กินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลต่ำ
     4. งดกินอาหารที่มีฟอสเฟสสูง ซึ่งมักพบใน เนื้อสัตว์ ไข่แดง นม และเมล็ดพืชต่างๆ เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์
     5. ควรควบคุมการรับประทานเกลือ ตามคำแนะนำของแพทย์

วิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคไต
     1.ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับของสารก่อนิ่วในปัสสาวะสูงเกินไป
     2.อย่ากลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ระวังอย่าให้ท้องผูก
     3.ไม่ควรกินอาหารเค็มเกินไป
     4.เมื่อตรวจพบโรคไตตั้งแต่ระยะเริ่มแระ และให้การรักษาก่อนที่จะเกิดภาวะไตวาย
     5.ถ้าเป็นเบาหวานอยู่แล้ว ต้องควบคุมมิให้น้ำตาลในเลือดสูงเกินไป
     6.ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง
     7.รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดนิ่ว
     8.ดูแลทำความสะอาด หลังการปัสสาวะ และอุจจาระทุกครั้ง
     9.ระมัดระวังเรื่องการกินยา พยายามหลีกเลี่ยงสารที่มีพิษต่อไต เช่น ยาแก้ปวด เป็นต้น
     10.ไม่จำเป็นต้องหายามาบำรุงไต ถ้ามีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์
บทสรุป
       ไต เป็นอวัยวะที่สำคัญต่อร่างกาย มี 2 ข้างอยู่บริเวณบั้นเอว และมีหน้าที่สำคัญต่างๆ อย่างมาก เช่น การกรองของเสีย การผลิตฮอร์โมนต่างๆ การรักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ เป็นต้น โรคไตวายเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่มักเป็น และกว่าจะมารู้ตัว เนื้อไตก็เหลือการทำงานน้อยมาก จากไตวายแบบเฉียบพลันไปเป็นไตวายแบบเรื้อรัง
       เมื่อไตเกิดผิดปกติขึ้นจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ต่อมาจึงเกิดอาการขึ้นมากมายแกผู้ป่วย ทุกระบบในร่างกายจะเสียไปหมด เพราะเซลล์ต่างๆ นั้นอยู่กับเลือด ซึ่งเต็มไปด้วยของเสียที่ไม่ได้ถูกกรองหรือกำจัดให้หมดไป เซลล์ต่างๆ ก็จะทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติ เกิดอาการต่างๆ หากมีการป้องกันและแก้ไขอย่างถูกต้อง โอกาสที่จะเกิดโรคไตก็จะลดลง  มีโรคไตบางชนิดที่ไม่รักษาก็หายเองได้ แต่โดยส่วนใหญ่โรคไตที่ไม่รักษามักจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ และเนื้อไตก็จะถูกทำลายเพิ่มมากขึ้น พอผู้ป่วยรู้ว่ากำลังเป็นโรคก็เกิดภาวะเครียด วิตกกังวลไม่สามารถยอมรับความจริงได้ ยิ่งส่งผลให้อาการของโรคไตทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
       โรคไตส่วนใหญ่ไม่ใช่โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ในครอบครัวเดียวกันอาจจะพบโรคไตชนิดเดียวกันได้ ซึ่งการรักษาโรคไตก็มีได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ป่วยรายนั้น เป็นแบบใด เพราะการรักษาในรูปแบบต่างๆ ก็จะเหมาะสมกับผู้ป่วยในระยะต่างๆ  คนที่เป็นโรคไต มักมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น โรคไตเป็นปัญหาระดับโลก ไม่ว่าจะทั้งเด็กและผ็ใหญ่ก็สามารถที่จะเป็นได้เหมือนกัน การป้องกันโรคไตก็มีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น การลดปริมาณโซเดียม การไม่กินเค็ม ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกาย เป็นต้น ถ้าทุกคนดูแลสุขภาพทั้งตนเอง และครอบครัวได้ โรคไตวาย หรือโรคอื่นๆ ก็จะไม่มารบกวนสุขภาพ หากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงใดที่จะทำให้เกิดโรคไตก็อย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์หมั่นดูแลและตรวจสุขภาพตนเองและคนใกล้ชิดเป็นประจำ เพื่อจะได้มีชีวิตที่สดใส ลดโอกาสที่จะเกิดโรคไตวายและโรคร้ายอื่นๆ

1 ความคิดเห็น:

  1. ทางเลือกใหม่ที่ทุกคนใช้แล้วมีผลตอบรับดีมากๆ สุขภาพที่ดีไม่ใช่จะต้องดูแลแค่ภายนอก ต้องดูแลภายในด้วย แนะนำสมุนไพรพลูคาว 100% สกัดจากใบพลูคาวที่จะช่วยยับยั้งทำลายเชื้อไวรัส และเซ็ลล์มะเร็ง เชื้อ Hiv หูดหงอนไก่ สเก็ดเงิน ริดสีดวง เบาหวาน ไต ไทรอย ไวรัสตับอักเสบบี อัมพฤกษ์ อัมพาต หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ภูมิแพ้ โรคพุ่มพวง ไซนัส
    อยากหายจากการป่วยที่เรื้อรังไว้ใจเราครับ
    ผ่าน อย. และได้รับรางวัล ผลิตภัณฑ์ดีเด่นแห่งปี 2558 ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายของเราให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่างๆที่จะมาทำลายสุขภาพของเรา
    สอบถามเพิ่มเติม tel. 0959279523 ID line. Aofaudio0502
    สอบถามผ่านไลน์ก่อนได้ครับ อย่ามัวแต่อายครับสอบถามมาก่อนได้

    ตอบลบ