เพราะเคยสร้างความตื่นตะลึงด้วยการคร่าชีวิตราชินีลูกทุ่ง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” มาแล้ว จึงทำให้คนไทยรู้จัก “โรคเอสแอลอี” กันในนาม “โรคพุ่มพวง” ซึ่งแม้ว่าช่วงนี้เราจะไม่ได้ยินชื่อของโรคนี้บ่อยนัก แต่รายงานทางการแพทย์ก็ยังพบผู้ป่วยด้วยโรคเอสแอลอีอยู่อย่างต่อเนื่อง
โรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus - SLE) หรือ โรคลูปัส
จัดเป็นโรคที่เรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในกลุ่มภูมิคุ้มกันเพี้ยน ซึ่งไม่ได้เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงอย่างที่ผู้คนส่วนมากเข้าใจ โรคเอสแอลอีเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีการผลิตโปรตีนของภูมิคุ้มกันในเลือดที่เรียกว่า “แอนติบอดี้” ขึ้นมามากเกินปกติ ทำให้เกิดปัญหาในอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ จากปกติที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรีย หรือไวรัสจากภายนอกร่างกาย แต่กลับต่อต้านร่างกายของตัวเอง จนทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ถ้าเป็นรุนแรงจะมีการทำลายอวัยวะภายในด้วย เช่น ไต หัวใจ ปอด และระบบประสาท
สำหรับความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนบางคนเป็นรุนแรง บางคนเป็นไม่รุนแรง และในรายที่เป็นไม่รุนแรงวันดีคืนร้ายก็จะเป็นรุนแรงขึ้นมาได้อีก ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการของโรคให้สงบ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติหากรักษาได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคแอสเอลอี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงวัยสาวถึงวัยกลางคน อายุระหว่าง 20-45 ปี อายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี โดยผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 9:1 และพบได้ในทุกเชื้อชาติ แต่จะพบในคนผิวดำและผิวเหลืองมากกว่าผิวขาว โดยเฉพาะบริเวณเอเชียตะวันออก เช่น ไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฮ่องกง และจีน
ใครมีโอกาสเป็นโรคSLE ได้บ้าง
ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ประมาณ 9 เท่า หมายความว่าผู้ป่วยโรค เอสแอลอี 10 คน จะเป็นผู้หญิง 9 คน ผู้ชาย 1 คน โรคนี้พบในคนทุกช่วงอายุ แต่ส่วนมากจะมีอายุระหว่าง 20-45 ปี อายุที่เป็น โรคนี้มากที่สุดอยู่ที่อายุประมาณ 30 ปี โรคเอสแอลอี นี้เกิดขึ้นกับคนทั่วโลก ทั้งไทย จีน แขก ฝรั่ง แต่ดูเหมือนในคนเอเชียทั้งไทย จีน แขก และคนผิวดำ จะมีอาการรุนแรงกว่าฝรั่งผิวขาวชาติตะวันตก
ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคเอสแอลอีแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางการวิจัยพบว่า โรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์, ฮอร์โมน และการติดเชื้อโรค (โดยเฉพาะเชื้อไวรัส) นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นหรือมีโอกาสเป็นโรคเอสแอลอี มีอาการรุนแรงขึ้น เช่น แสงแดด โดยเฉพาะแสงอุลตร้าไวโอเลต การตั้งครรภ์ และยาบางชนิด
1. พันธุกรรม พบว่าในแฝดจากไข่ใบเดียวกันมีโอกาสเกิดโรคนี้ถึงร้อยละ 30-50 และร้อยละ 7-12 ของผู้ป่วยเอสแอลอี เป็นญาติพี่น้องกัน เช่น แม่และลูกสาว หรือในหมู่พี่น้องผู้หญิงด้วยกัน
2. ติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถค้นพบเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ได้
3. ฮอร์โมนเพศโดยเฉพาะเอสโตรเจน โรคที่พบมากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ บ่งชี้ว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ความรุนแรงของโรคยังแปรเปลี่ยนตามการมีครรภ์ ประจำเดือน และการใช้ยาคุมกำเนิด
4. แสงแดดและสารเคมี ยาบางอย่างเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม โรคแสดงอาการของโรคนี้ได้
โรคเอสแอลอี เป็นโรคที่มีลักษณะการแสดงออกได้หลากหลาย อาจมีอาการเฉียบพลันและรุนแรง หรือมีอาการค่อยเป็นค่อยไปเป็นช่วยระยะเวลานานหลายปี หรืออาจมีอาการแสดงออกของหลายอวัยวะในร่างกายพร้อมๆ กัน หรือมีการแสดงออกเพียงอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งทีละอย่างก็ได้ โดยอาการที่พบบ่อยนั้น ได้แก่ มีไข้ ผื่นขึ้นที่ใบหน้า เกิดแผลในปาก ผมร่วง มีอาการปวดข้อ บางครั้งก็เป็น พอรักษาก็หายไป แต่แล้วก็เป็นขึ้นมาอีก ส่วนอาการอื่นๆ มีดังนี้
อาการอ่อนเพลีย : เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด เป็นอาการที่พบได้บ่อยในขณะโรคกำเริบ
อาการทางผิวหนังและเยื่อบุช่องปาก : ในระยะเฉียบพลันที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ผื่นรูปปีกผีเสื้อ ลักษณะเป็นผื่นบวมแดงนูนบริเวณโหนกแก้มและสันจมูก ผื่นจะเป็นมากขึ้นเมื่อถูกแสงแดด ปลายเท้าซีดเขียวเมื่อถูกน้ำหรืออากาศเย็น ผมร่วง มีแผลในปาก
อาการทางข้อและกล้ามเนื้อ : เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดข้อมากกว่า
ลักษณะข้ออักเสบ มักเป็นบริเวณข้อเล็กๆ ของนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเท้า หรือข้อเข่า เป็นเหมือนๆ กันทั้ง 2 ข้าง ร้อยละ 17-45 พบอาการปวดกล้ามเนื้อ
อาการทางไต : ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการทางไตเป็นอาการนำ อาการแสดงที่สำคัญของไตอักเสบจากลูปัส ได้แก่ บวม ปัสสาวะเป็นฟอง ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ความดันโลหิตสูง
อาการทางระบบเลือด : อาการที่พบได้แก่ อ่อนเพลียหน้ามืดจากภาวะซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และเกร็ดเลือดต่ำ อาจพบจุดจ้ำเลือดออกตามตัวได้
อาการทางระบบประสาท : อาการที่พบได้ คือ อาการชักและอาการทางจิต นอกจากนี้อาจมีอาการปวดศรีษะรุนแรง หรือมีอ่อนแรงของแขนขา อาจพบได้ในระยะที่โรคกำเริบ
อาการทางปอดและเยื่อหุ้มปอด : อาการที่พบบ่อย คือ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ อาการแสดงคือเจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าสุด ตรวจพบมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด บางรายมีอาการปอดอักเสบซึ่งต้องแยกจากปอดอักเสบติดเชื้อ
อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด : ที่พบบ่อยคือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งมักพบร่วมกับเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการ เจ็บหน้าอก มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เหนื่อยง่าย โรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภาวะหลอดเลือดแข็งจากการได้รับยาสเตียรอยด์นานๆ นอกจากนี้ภาวะความดันโลหิตสูง ก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากไตอักเสบเรื้อรัง และจากการได้รับยาสเตียรอยด์
อาการทางระบบทางเดินอาหาร : ไม่มีอาการที่จำเพาะสำหรับโรคลูปัส อาการที่พบบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งเป็นผลจากการใช้ยารักษาโรคลูปัส เช่น NSAIDS ยาสเตียรอยด์ อาการยังคงอยู่ได้แม้จะหยุดยาไปเป็นสัปดาห์
อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด : ที่พบบ่อยคือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งมักพบร่วมกับเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการ เจ็บหน้าอก มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ เหนื่อยง่าย โรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภาวะหลอดเลือดแข็งจากการได้รับยาสเตียรอยด์นานๆ นอกจากนี้ภาวะความดันโลหิตสูง ก็เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยจากไตอักเสบเรื้อรัง และจากการได้รับยาสเตียรอยด์
อาการทางระบบทางเดินอาหาร : ไม่มีอาการที่จำเพาะสำหรับโรคลูปัส อาการที่พบบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ซึ่งเป็นผลจากการใช้ยารักษาโรคลูปัส เช่น NSAIDS ยาสเตียรอยด์ อาการยังคงอยู่ได้แม้จะหยุดยาไปเป็นสัปดาห์
ยาและวิธีการใหม่ ๆ ในการรักษาโรคลูปัส
ยาดานาโซล (Danazol) : เป็นฮอร์โมนในกลุ่มของฮอร์โมนเพศชายซึ่งมีที่ใช้ในผู้ป่วยลูปัสที่มาด้วยระบบเม็ดเลือด เช่น จำนวนเกร็ดเลือดต่ำ หรือเม็ดโลหิตขาวต่ำ หรือเม็ดเลือดแดงถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยลดขนาดของยาเพร็ดนิโซโลนที่ใช้ลงได้เร็วขึ้น และการให้ในขนาดต่ำยังช่วยรักษาภาวะสงบของโรคด้วย
ยาซัยโคลสะปอริน (Cyclosporin) : เป็นยาที่ใช้กดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายหรือเปลี่ยนอวัยวะ มีที่ใช้ในขนาดต่ำ ๆ เพื่อช่วยลดขนาดยาเพร็ดนิโซโลนได้เร็วขึ้น หรือในผู้ป่วยลูปัสที่มีอาการทางไตและไม่สามารถให้การรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันได้
ยาไมโคฟีโนเลต โมเฟติ (Mycophenolate mofetil) : ซึ่งปกติเป็นยาที่ใช้ร่วมกับยาสเตียรอยด์และซัยโคลสะปอริน ในการป้องกันการต่อต้านเนื้อเยื่อในการเปลี่ยนไต โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารพิวรีน ทำให้เกิดการยับยั้งการแบ่งเซลของเซลเม็ดเลือดขาว ในขณะนี้กำลังมีการทดลองใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคลูปัสทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
ยาทาลิโดมาย (Thalidominde) : เป็นยากดระบบประสาท ที่เคยใช้เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน เพื่อรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนในหญิงมีครรภ์ แต่ต้องถูกถอนออกจากตลาดในปี พ.ศ. 2504 เนื่องจากพบว่าทำให้เกิดความผิดปกติกับทารก แต่ในปัจจุบันมีการนำยาทาลิโดมายมาใช้ในการรักษาโรคอีกครั้ง ในผู้ป่วยโรคลูปัสโดยส่วนใหญ่ยาทาลิโคมายถูกนำมาใช้ในการรักษาอาการทางผิวหนัง เช่น ผื่น discoid, ชั้นไขมันอักเสบ หรือผื่นผิวหนังลูปัสกึ่งเฉียบพลัน นอกจากอาการทาง ผิวหนังแล้วยาทาลิโดมายยังช่วยรักษาอาการผมร่วงและลดอาการปวดข้ออีกด้วย ทำให้สามารถลดขนาดของยาสเตียรอยด์ที่ต้องใช้ลงได้
การให้ภูมิคุ้มกันผสมทางหลอดเลือด (Intravenous immunoglobulin) : มีคุณสมบัติในการช่วยลดการกำจัดเม็ดเลือดที่มีภูมิคุ้มกันจับอยู่ มีรายงานการรักษาด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยลุปัสที่มาด้วยอาการของจำนวนเกร็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน อาการทางระบบประสาท อาการทางไต แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยวิธีนี้สูงมาก และประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย แต่ละอาการไม่แน่นอน ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ที่แน่ชัด และไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นหรือใช้วิธีการรักษาอื่นแล้วไม่ได้ผล
การเปลี่ยนถ่ายน้ำเลือด (Plasmapheresis) : วิธีการนี้เป็นการรักษาโรค เอส แอล อีโดยการกรองเอาสารเชิงซ้อนทางภูมิคุ้มกัน เช่น ออโตแอนติบอดี้ย์และคอมพลีเม้นท์ ในกระแสเลือดออกไป ผลที่ได้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ผู้ป่วยจะกลับมีแอนติบอดี้ย์สูงขึ้นอีก จึงจำเป็นต้องตามมาด้วยการให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น เพร็ดนิโซโลนหรือซัยโคลฟ้อสฟาไมด์ในขนาดสูง ๆ เป็นชุดทางหลอดเลือดดำ หลังทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำเลือดจะช่วยให้มีการทำลายเม็ดเลือดขาวที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำเลือด ใช้ในการรักษาโรคลูปัสที่มีอาการรุนแรงมากและเฉียบพลัน เช่น ปอดอักเสบรุนแรงจนมีเลือดออกมาจากถุงลม หรือภาวะไตวายเฉียบพลันและรุนแรงจากไตอักเสบ แต่การทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำเลือดนี้ก็มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง จึงควรเลือกใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นตายเท่ากัน และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น
การปลูกถ่ายไขกระดูก (stem-cell transplant) : ใช้ในการรักษาโรค เอส แอล อี ที่มีอาการรุนแรงมาก และใช้วิธีการหรือยาใดๆ ไม่ได้ผลจริง ๆ ขณะนี้ยังมีการใช้รักษาผู้ป่วยโรค เอส แอล อี จำนวนไม่มากนัก เนื่องจากมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก และไม่ตอบสนองต่อการรักษาไม่มากนัก ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการทำการปลูกถ่ายไขกระดูกสูงมาก ๆ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ง่าย
ในอนาคตยังมีวิธีการใหม่ ๆ ในการรักษาโรคลูปัสที่กำลังอยู่ในระยะทดลองตามมาอีกหลายอย่างเช่น การผลิตวัคซีนลดภูมิคุ้มกัน, การรักษาโดยวิธีการทางพันธุกรรม (gene therapy) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าโรคลูปัสเป็นโรคที่มีความสลับซับซ้อนมาก ตั้งแต่อาการและอาการแสดงของโรค การวินิจฉัยโรคตลอดจนถึงการรักษา แพทย์ผู้ดูแลต้องอาศัยทั้งความรู้ ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ ความช่างสังเกต และความร่วมมือจากผู้ป่วย เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ มีชีวิตยืนยาวใกล้เคียงปกติมากที่สุด
ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อป่วยเป็นโรคเอสแอลอี
1. ในระยะแรกต้องได้รับการรักษาด้วยยา ต้องรับประทานยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
1. ในระยะแรกต้องได้รับการรักษาด้วยยา ต้องรับประทานยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
2. ควรพยายามอย่าให้ผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรง ควรใส่หมวกปีกกว้าง กางร่ม และสวมใส่เสื้อแขนยาวเวลาที่จำเป็นต้องออกแดด
3. ทำจิตใจให้สบาย ไม่ควรเครียด ถ้อถอย เศร้าใจ หรือกังวลใจ เพราะทำให้อาการกำเริบได้ ควรมีกำลังใจและมีความอดทนต่อการรักษา
4. เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักและผลไม้ต่างๆ มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง
5. เนื่องจากผู้ป่วยเอสแอลอี มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่ายจึงต้องคอยระวังตัว ไม่เข้าใกล้ผู้อื่นที่กำลังเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคหวัด พยายามไม่อยู่ในที่ผู้คนแออัด นอกจากนี้อาหารที่รับประทานทุกชนิดควรเป็นอาหารที่สะอาดและต้มสุกแล้ว
6. ทำตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และไปรับการตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์ในการรักษาและประเมินความรุนแรงของโรค และผลการรักษาแพทย์จะได้พิจารณา ให้การรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
7. ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ผู้รักษาบ่อยๆ เพราะแพทย์คนใหม่อาจจะไม่ทราบรายละเอียดของอาการเจ็บป่วย ทำให้เกิดความล่าช้าในการวินิจฉัยและการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาจเป็นอันตรายได้
8. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะจะมีโอกาสแพ้ยาได้บ่อยและรุนแรงกว่าคนธรรมดา
9. ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง
10. ถ้ามีอาการผิดปกติ มีไข้ หรือไม่สบาย ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทันที หรือหากจะไปหาแพทย์อื่น ควรนำยาที่กำลังรับประทานอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วยทุกครั้ง เพื่อว่าแพทย์จะได้จัดยาได้ถูกต้องและสอดคล้องกับยาประจำที่รับประทานอยู่
11. ผู้ป่วยหญิงที่แต่งงานแล้ว ไม่ควรมีบุตรในระยะที่โรคกำเริบ เพราะจะเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิด เพราะอาจจะทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น ควรเลี่ยงใช้วิธีอื่นๆ แทนโดยการปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยจะสามารถตั้งครรภ์ได้ เมื่อพ้นระยะที่โรคมีความรุนแรงแล้ว แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์
การรักษาเพื่อควบคุมการกำเริบของโรค
เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นที่อวัยวะใด อวัยวะนั้นมักจะถูกทำลายจนสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานไปในที่สุด หากสามารถควบคุมการอักเสบที่เกิดขึ้นได้เร็ว การทำลายอวัยวะก็จะมีน้อย การเลือกการรักษาที่เหมาะสมจะอาศัยความรุนแรงของโรคเป็นแนวทางดังนี้
1. โรคลูปัสที่มีอาการน้อย ไม่เป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เช่น อาการทางผิวหนัง มีผื่นที่หน้า ปวดข้อ ซีดเล็กน้อย อาจให้การรักษาด้วยยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะบริเวณ หรือยาที่ใช้รักษามาเลเรีย เช่น คลอโรควิน ขนาด 250 มก./วัน อาการทางข้อ อาจใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ไข้ ปวดกล้ามเนื้อ หรือเยื่อบุปอดหรือหัวใจอักเสบ อาจใช้ยาสเตียรอยด์ในขนาดต่ำ ๆ ร่วมด้วย เมื่อคุมโรคได้จึงค่อยลดยาลง
2. โรคลูปัสที่มีอาการปานกลาง ได้แก่ผู้ป่วย ที่มีเยื่อบุอักเสบ มีไข้ น้ำหนักลด มีตะกอนผิดปกติในปัสสาวะเล็กน้อย มีโปรตีนในปัสสาวะไม่มาก ผื่นทางผิวหนังบางชนิด เช่น อาจเริ่มด้วยยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแดปโซน (dapsone) ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ควรให้การรักษาด้วยยา เพร็ดนิโซโลน (prednisolone) ขนาด 20-30 มก./วัน อาจให้ยาอะซาไธโอพรีน (azathioprine) ขนาด 1-2 มก./กก./วัน ร่วมด้วย เมื่อมีอาการหรือผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการดีขึ้นค่อยลดยาลง ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อติดตามการดำเนินโรคทุก 3-4 เดือน แม้ว่าโรคจะสงบแล้ว
3. โรคลูปัสที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการของอวัยวะสำคัญ มีการดำเนินโรครุนแรงและรวดเร็วเหล่านี้ ถ้าให้การรักษาไม่ทันอาจจะเกิดการสูญเสียอวัยวะหรือมีอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น อาการทางไต อาการทางสมอง อาการปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการทางระบบเลือด มีเม็ดเลือดขาวต่ำมาก หรือจำนวนเกร็ดเลือดต่ำมาก หรืออาการของระบบทางเดินอาหารที่รุนแรงเช่น หลอดเลือด มีเซนเตอริคอักเสบ (mesenteric artery vasculitis) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับยาเพื่อควบคุมการกำเริบของโรคโดยเร็ว โดยมีขั้นตอนในการรักษาดังนี้
3.1 ถ้าผู้ป่วยยังรับประทานอาหารหรือยาได้ และอาการของโรคพอจะรอดูการตอบสนองได้สัก 2-3 วัน ให้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูงโดยการรับประทาน มักเป็นยาเพร็ดนิโซโลนขนาด 1-2 มก./กก./วัน โดยในระยะแรกควรแบ่งยาให้วันละ 3-4 ครั้ง โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 5-10 วัน แต่ถ้าเป็นอาการทางไต อาจต้องใช้เวลาถึง 3-10 สัปดาห์ เมื่ออาการและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเริ่มกลับมาเป็นปกติจึงค่อยลดยาลงในอัตราประมาณ 5 มก./สัปดาห์ เมื่อลดยาจนเหลือ 30 มก./วัน ควรลดยาต่อไปให้ช้าลงในอัตราประมาณ 2.5 มก./สัปดาห์ แล้วจึงค่อยลดยาลงในอัตราที่ช้ากว่าเก่า เช่นประมาณ 5-10 มก./เดือน ยาในขนาดต่ำ ๆ เช่น 5-10 มก./วัน อาจให้เป็นวันละครั้งได้ เมื่อคุมโรคต่อไปได้อีกระยะหนึ่งจึงค่อยปรับเปลี่ยนเป็นการให้ยาแบบวันเว้นวัน
ผู้ป่วยที่ได้รับยาเพร็ดนิโซโลนขนาดสูงต้องระวังปัญหาจากการติดเชื้อ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย สิวขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง อาการทางจิต ถ้าได้รับยาเป็นเวลานาน ๆ ก็มีโอกาสเกิดหัวกระดูกในข้อยุบจากการขาดเลือด (avascular necrosis), ภาวะกระดูกพรุน และต้อกระจกด้วย ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยอาการดีขึ้นหรืออาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาภายในระยะเวลาอันสมควร ควรลดยาลงทันทีหรือเปลี่ยนไปรักษาด้วยวิธีอื่น
3.2 การให้ยาสเตียรอยด์ในขนาดสูงทางหลอดเลือดดำ มีที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลันและรุนแรง เช่น สมองอักเสบ ปอดอักเสบที่รุนแรง ไตอักเสบรุนแรง หรืออาการที่รักษาด้วยยากินแล้วไม่ได้ผล เช่น ภาวะจำนวนเกร็ดเลือดต่ำที่ดื้อต่อการรักษา ยาแบบนี้โดยทั่วไปจะอยู่ในรูปของยาเมธิลเพร็ดนิโซโลน (methylprednisolone) ขนาด 1 กรัม ให้ทางหลอดเลือดดำช้า ๆ ภายในเวลา 30 นาทีต่อเนื่องกัน 3 วัน หรืออาจใช้เป็นเด็กซ่าเมธาโซน (dexamethasone) ขนาด 20-500 มก./วัน แทนก็ได้ การรักษาด้วยวิธีนี้ให้ผลรวดเร็วกว่าโดยการกิน แต่ผลที่ได้มักคงอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ ต้องให้ยาสเตียรอยด์รับประทานร่วมไปด้วยโดยอาจจะลดยาได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยที่มีปัญหาในเรื่องการดูดซึมยาจากทางเดินอาหาร เช่นผู้ป่วยที่บวมมาก ๆ หรือมีอาการรุนแรงของระบบทางเดินอาหาร ควรให้ยาสเตียรอยด์ทางหลอดเลือดดำ ผลข้างเคียงของการให้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูงทางหลอดเลือดดำ ไม่ต่างจากการให้รับประทานทุกวัน
3.3 การบำบัดด้วยยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive therapy) เช่นยาอะซาไธโอพริน หรือยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ ข้อบ่งชี้สำหรับการใช้ยากลุ่มนี้ได้แก่
3.3.1 โรคลูปัสที่เป็นรุนแรงถึงขั้นเป็นตายเท่ากันและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการให้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูงทางหลอดเลือดดำ
3.3.2 โรคลูปัสที่มีอาการของอวัยวะสำคัญที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ในระยะเวลาอันสมควร
3.3.3 ผู้ป่วยโรคลูปัสที่อาการของอวัยวะสำคัญกำเริบมากขึ้นเมื่อเริ่มลดยาสเตียรอยด์หรือต้องให้ยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาภาวะสงบในขนาดที่สูงเกินไป
3.3.4 ผู้ป่วยลูปัสที่มีผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์มากเกินไป เช่น มีหัวกระดูกในข้อยุบจากการขาดเลือด, มีอาการทางจิตจากยา
3.3.5 ผู้ป่วยที่มีอาการของอวัยวะสำคัญและมีข้อห้ามในการใช้ยาสเตียรอยด์อยู่ด้วย เช่น มีความดันโลหิตสูงที่คุมไม่ได้ มีภาวะกระดูกพรุนมาก
โดยทั่วไปการให้ยากดภูมิคุ้มกันมักต้องให้ร่วมกับยาสเตียรอยด์เนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันออกฤทธิ์ช้ากว่า บางครั้งต้องรอถึง 3-6 เดือน ยาอะซาไธโอพรีน มีประสิทธิภาพในการกดภูมิคุ้มกันน้อยกว่าซัยโคลฟอสฟาไมด์ แต่ผลข้างเคียงก็น้อยกว่าด้วย หรือในสตรีอายุน้อยที่ยังต้องการมีบุตร ถ้ารักษาด้วยยาสเตียรอยด์ไม่ได้ผล ก็มักพิจารณาให้อะซาไธโอพรีนเสริมเข้าไปก่อน เพราะยานี้ก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยาก น้อยกว่ายาซัยโคลฟอสฟาไมด์
ในปัจจุบันการให้ยาเพร็ดนิโซโลนขนาดสูงร่วมกับยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ขนาดสูงทางหลอดเลือดดำดูจะเป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอาการไตอักเสบหรืออาการอักเสบของอวัยวะสำคัญอื่น ๆ นอกจากนี้ผลข้างเคียงยังน้อยกว่าการให้ยาด้วยวิธีกินทุกวัน ปัญหาประการหนึ่งคือ ยานี้ควรให้นานเท่าใด การศึกษาทั้งในคนไทยและต่างประเทศ พบว่าถ้าให้ยาในระยะสั้นประมาณ 6-9 เดือน โอกาสที่โรคจะกำเริบขึ้นมาอีกมีสูง แต่ถ้าให้ทุก 3 เดือน ต่อไปอีก 2 ปี การกำเริบจะเกิดน้อยลงจึงแนะนำให้ให้ยาทางหลอดเลือดดำเดือนละครั้งจนเริ่มมีการตอบสนองต่อการรักษาซึ่งโดยมากจะเป็นครั้งที่ 3-4 หลังจากนั้นควรเลื่อนระยะห่างในการให้ยาเป็นทุก 6, 8 และ 12 สัปดาห์ตามลำดับ และคงการให้ยาทุก 12 สัปดาห์จนครบ 3 ปี หลังจากที่อาการไตอักเสบสงบลง โดยมีโปรตีนในปัสสาวะน้อยกว่า 1 กรัม/วันหรือจำนวนเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะน้อยกว่า 10 เซลล์
บทสรุป
โรค SLE ไม่ได้เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรงอย่างที่ผู้คนส่วนมากเข้าใจ โรค SLE เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีการผลิตโปรตีนของภูมิคุ้มกันในเลือดที่เรียกว่า “ Antibody ” ขึ้นมามากเกินปกติ ทำให้เกิดปัญหาในอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย จากปกติที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรีย หรือไวรัสจากภายนอกร่างกาย แต่กลับต่อต้านร่างกายของตัวเอง จนทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ถ้าเป็นรุนแรงจะมีการทำลายอวัยวะภายในด้วย เช่น ไต หัวใจ ปอด และระบบประสาท อีกทั้งในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการของโรคให้สงบ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติหากรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งถ้าเราสงสัย หรือ ว่ามีอาการที่พอจะสังเกตได้ว่าน่าจะเป็นโรคนี้ เราควรรีบไปปรึกษา หรือ พบแพทย์โดยด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้ขยายตัวไปมากกว่าเดิม